กาลามสูตร คือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงแก่ชาวกาลามะว่าไม่ให้เชื่อสิ่งใดง่ายๆ โดยสมัยนั้นมีผู้อวดอ้างเรื่องต่างๆมากมายที่เกสปุตตนิคมเมืองของชาวกาลามะ มีการอวดอ้างชักจูงให้คนเชื่อว่าลัทธิของตัวเองนั้นดีกว่าลัทธิอื่นแถมดูหมิ่นลัทธิอื่นอีก ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้เดินทางมาถึงจึงได้แสดงธรรมแก่ชาวกาลามะที่เกสปุตตนิคมนี้เอง
พระพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมกาลามสูตร ให้ชาวเกสปุตตนิคมได้รู้ว่าก่อนที่จะเชื่อสิ่งใดควรที่จะยึดหลักการ 10 ข้อนี้ เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจว่าควรที่จะเชื่อหรือไม่
-
อย่าปลงใจเชื่อ เพียงแค่ฟังตามกันมา (มา อนุสฺสวเนน)
เพียงแค่เราได้ยินได้ฟังคนพูดต่อกันมาก็ไม่อาจจะเชื่อได้ เพราะว่าต้นเรื่องหรือมูลเหตุที่แท้จริงเรายังไม่รู้เลยว่าคืออะไร รู้แต่ว่าฟังเขาพูดกันมา เรื่องที่เราได้ฟังมันอาจมีการเติมแต่งหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็ได้
-
อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะว่าเป็นเรื่องที่ถือสืบกันมายาวนาน (มา ปรมฺปราย)
บางคนนั้นเชื่อในเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยบอกว่าคนเฒ่าคนแก่บอกมาแบบนี้เราควรที่จะทำตามนะ อย่างเช่น ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืนเพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดเงินทองที่เก็บสะสมมา ซึ่งบางทีความเชื่อไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล เพียงแต่เล่าสืบกันมา ดังนั้นเราจึงไม่ควรเชื่อหากยังไม่แน่ใจ
-
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นข่าวลือ (มา อิติกิราย)
ในยุคปัจจุบันที่มีอินเตอร์เน็ตนั้นข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมาก มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง เราควรที่จะมีสติในการเสพข่าวต่างๆ หากเราเชื่อโดยทันทีโดยไม่มีข้อมูลต่างๆประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมก็อาจส่งผลเสียต่อเราได้
-
อย่าพึ่งปลงใจเชื่อโดยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
หากใครเอาตำรามากล่าวอ้างก็อย่าพึ่งไปเชื่อ เพราะว่าตำราอาจจะผิดได้เช่นกัน บางคนนั้นไม่ได้อ่านตำราอะไรเลยแต่ก็อ้างว่าสิ่งที่ตนได้พูดไปนั้นมีการอ้างอิงมาจากหนังสือตำราที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นให้พิจารณาดีๆก่อนที่จะเชื่อ
-
อย่าพึ่งเชื่อโดยการใช้ตรรกะของตัวเอง (มา ตกฺกเหตุ)
การคิดโดยใช้ตรรกะ แสดงความคิดเห็น หรืออ้างเหตุผลต่างๆที่มีความเป็นไปได้ก็อาจจะผิดได้ ดังนั้นเราควรมีความรอบคอบและใช้ปัญญาให้มากที่สุดก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด
-
อย่าปรงใจเชื่อโดยการคิดคาดคะเนหรือการอนุมานเอาเอง (มา นยเหตุ)
การคิดคาดคะเนเอาเอง เช่น วันนี้อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ ฝนจะต้องตกแน่ๆ แต่แล้วทั้งวันฝนมันก็ไม่ตกหรอกอากาศมันก็แค่ร้อนมากกว่าปกติ หรือผู้หญิงที่รู้จักในที่ทำงานชอบยิ้มให้ เธออาจชอบเราแน่ๆ แต่พอไปจีบเธอบอกเป็นคนเฟรนลี่เฉยๆก็แค่ยิ้มตามมารยาท ดังนั้นแล้วอย่าพึ่งปรงใจเชื่อโดยการคาดคะเนเอาเอง
-
อย่าพึ่งเชื่อเพราะเห็นตามอาการที่ปรากฏ (มา อาการปริวิตกฺเกน)
อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่เราเห็น เช่น บางคนแต่งตัวดูดี พูดจาดีมีหลักการ แต่เบื้องหลังอาจเป็นคนไม่ดีก็ได้ หรือบ้านที่ดูภายนอกสวยงาม ดูแข็งแรง แต่พอเข้าไปดูภายในอาจมีปัญหาผนังร้าว น้ำรั่วซึม โครงสร้างไม่แข็งแรงก็ได้
-
อย่าพึ่งเชื่อเพียงเพราะเข้ากันได้กับความคิดความเชื่อของตัวเอง (มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
หลายคนนั้นเชื่อเรื่องต่างๆเพราะว่ามันเข้ากันได้กับความเชื่อเดิมของตัวเอง ซึ่งบางทีความเชื่อเดิมของเราเองนั้นอาจเป็นความเชื่อที่ผิดก็ได้ ดังนั้นเราควรวิเคราะห์ให้ดีก่อนที่จะเชื่อเรื่องนั้นๆ
-
อย่าพึ่งเชื่อเพราะคนพูดดูมีความน่าเชื่อถือ (มา ภพฺพรูปตา)
แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใด หากเขาพูดเราก็ไม่ควรที่จะเชื่อในทันที ควรที่จะฟังหูไว้หูดีกว่า หากคุณไปเชื่อเพียงเพราะเขามียศ มีตำแหน่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้
-
อย่าพึ่งเชื่อเพราะว่าเป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
แม้แต่คนที่เป็นครูของเราก็อย่าพึ่งเชื่อ เพราะบางทีครูก็อาจมีข้อมูลที่ผิดได้เช่นกัน ดังนั้นเราก็ควรที่จะพิจารณาก่อนว่าสิ่งที่ครูพูดหรือกระทำนั้นเป็นอย่างไรก่อนจะตัดสินใจเชื่อ
พระพุทธเจ้าสอนหลักธรรม “กาลามสูตร” โดยมุ่งเน้นให้คิด ไตร่ตรอง และพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด ซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมคำสอนที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว